หนอนกอลายแถบแดง หนอนกอชนิดใหม่ของประเทศไทย

หนอนกออ้อยเป็นแมลงที่สำคัญชนิดหนึ่งของอ้อย พบระบาดทุกแหล่งปลูกอ้อยของประเทศไทย หนอนกออ้อยที่พบในระยะแตกกอ มีอยู่ 5 ชนิดคือ

  • หนอนกอลายจุดเล็ก (Chilo infuscatellus Snellen)
  • หนอนกอสีขาว (Scirpophaga excerptalis Walker)
  • หนอนกอสีชมพู (Sesamia inferens Walker)
  • หนอนกอลายใหญ่หรือลายแถบ (Chilo sacchariphagus Bojer)
  • หนอนกอลายจุดใหญ่ (Chilo tumidicostalis Hampson)

ทั้ง 5 ชนิดพบในระยะแตกกอ ที่รุนแรง คือ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และหนอนกอสีชมพู ส่วนหนอนกอลายใหญ่หรือลายแถบและหนอนกอลายจุดใหญ่ ส่วนมากพบในระยะอ้อยเป็นลำ

ในปี 2546 จากการสำรวจในเดือนมีนาคม พบหนอนกออ้อยระบาดในเขตจังหวัดนครสวรรค์ เป็นหนอนกอชนิดใหม่ ซึ่งไม่เคยระบาดมาก่อน และเป็นชนิดแรกที่พบในประเทศไทยมีชื่อว่า Chilo sacchariphagus stramineelus (Caradja) ซึ่งจำแนกชื่อโดย ดร.องุ่น ลิ่ววานิช ซึ่งเป็นชนิดย่อยของหนอนกอลายแถบ จึงเรียกชื่อหนอนกอชนิดใหม่ว่า หนอนกอลายแถบแดง เพราะระยะหนอนมีลายสีแดงเห็นชัดเจน หนอนกอลายแถบแดงนี้แหล่งกำเนิดอยู่ที่จีนตอนใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น การระบาดครั้งนี้น่าจะมาจากการนำท่อนพันธุ์อ้อยเข้ามาจากจีนและไต้หวันประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา จากการศึกษาทางนิเวศวิทยา พบว่า หนอนกอลายแถบแดงชอบความชื้นสูง ขณะนี้พบพืชอาหารและพืชอาศัย คือ พง ที่ขึ้นตามชายน้ำ

ชีวประวัติ

 

Caradja_1

ไข่
ไข่มีลักษณะเป็นกลุ่ม มีสีขาวใส จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและส้ม ก่อนฟักเป็นตัวหนอน ไข่ 1 กลุ่ม มีประมาณ 5-22 ฟอง มีเปอร์เซ็นต์การฟักเฉลี่ย 90-100%

 

Caradja_2

ตัวหนอน
เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะเห็นขนตามลำตัวชัดเจน ลักษณะลำตัวลาย มีรอยขีดสีแดงตามลำตัว เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่มองเห็นลายจุดตามลำตัวดำเข้ม มีการลอกคราบ 8 ครั้ง มี 9 วัย มีอายุประมาณ 32-36 วัน ก่อนเข้าดักแด้ พบมีการชักใยหุ้มตัว มีขนาดความยาวตัวประมาณ 17.85 ม.ม.–18.95 ม.ม. มีความกว้างหัวกะโหลกประมาณ 1.55–1.65 ม.ม.

 

Caradja_3

ดักแด้
เมื่อเข้าดักแด้ จะมีสีแดงเข้ม มีขนาดความกว้างประมาณ 1.51–3.11 ม.ม. ความยาวประมาณ 11.53–15.97 ม.ม. มีอายุดักแด้ก่อนฟักเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 8-11 วัน

 

Caradja_4

ตัวเต็มวัย
ผีเสื้อ มีสีเทาดำ มองเห็นเส้นปีกสีดำชัดเจน มีจุดสีดำบนปีกคู่หน้าทั้งสองข้าง ผีเสื้อเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย

พฤติกรรมของหนอน
หลังจากฟักออกมาใหม่ๆ จะเดินไปที่ขอบใบทิ้งสายใยลงมา ถ้าลมไม่มีก็จะชักใยกลับและเดินเข้าไปที่ยอดแทะผิวใบที่ยอดเป็นขุยเห็นชัดเจนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 10-30 ตัว และกินอยู่บนยอดอ้อย อ้อยและยอดแห้งตายในที่สุดก็แห้งตายทั้งต้น